ฟันน้ำนม ถือเป็นหนึ่งในฟันชุดแรกของลูกน้อยที่มีส่วนสำคัญ และช่วยให้เด็กสามารถบดเคี้ยวอาหารอ่อนๆ ได้ดี ฟันชนิดนี้จะไม่คงทนถาวร เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้นมันก็ถูกดันให้หลุดออกไป และแทนที่ด้วยฟันแท้ ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ละเลยการใส่ใจดูแลฟันชุดแรกของลูก เพราะคิดว่าไม่นานมันก็จะหลุดออกไป จึงไม่มีความจำเป็นมากนักต่อการทำงาน ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาฟันผุ และนั่นก็เป็นตัวบ่งบอกถึงสัญญาณสุขภาพของพวกเขาที่ผู้ปกครองยังไม่รู้ตัว
ฟันน้ำนมของลูกน้อย จะประกอบด้วยกันทั้งหมด 20 ซี่ โดยฟันซี่แรก จะเริ่มเห็นได้ในช่วง 6 เดือนแรก บริเวณเหงือกล่างด้าหน้า ก่อนจะค่อยๆ ทยอยขึ้นมาจนครบเมื่อเด็กมีอายุเริ่มเข้าสู่ปีที่สอง ขนาดของฟันจะเล็กแตกต่างจากฟันแท้ มีสารเคลือบฟันที่เบาบางกว่า จึงสังเกตได้ว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีพอ จะเกิดปัญหาฟันผุตามมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางรายก็เหลือเพียงแค่ส่วนของฟันดำๆ เป็นตอขนาดเล็กที่พร้อมจะหักออกได้ทุกเมื่อ
ช่องปากเป็นอีกหนึ่งจุดที่จะบ่งบอกถึงสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับในลูกน้อย ฟันน้ำนมที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงก็เปรียบเสมือนเครื่องบดอาหารด่านแรกก่อนมันจะลงไปสู่กระเพาะต่อไป ฟันน้ำนมจะช่วยให้อาหารเกิดการย่อยอย่างมีประสิทธิภาพ การดูดซึมอาหารทำได้ดี และกระเพาะอาหารของลูกน้อยจะไม่ทำงานหนักจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วกระเพาะของเด็กยังมีความสามารถในการย่อยอาหารไม่ดีพอ หากอาหารที่รับเข้าไปไม่ละเอียดก็อาจจะส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่สบายตัว ท้องอืด และมีลมในท้องตามมาได้
ความสัมพันธ์ของฟันน้ำนมยังมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของลูกน้อย กระตุ้นให้เด็กสามารถควบคุมการเคี้ยวอาหารโดยเฉพาะช่วงของขากรรไกรบน และล่าง ให้แข็งแรงมากขึ้น ฟันน้ำนมของเด็กหลังจากขึ้นจนครบทุกซี่แล้วยังเป็นตัวช่วยให้พวกเขาสามารถออกเสียงพยัญชนะต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพราะการพูดด้วยความชัดเจนจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้การพูดที่ดีต่อไปได้ในอนาคต
ก่อนอื่นผู้ปกครองควรเข้าใจก่อนว่า ฟันน้ำนมมีความสำคัญดังที่กล่าวเอาไว้ข้างต้นพอๆ กับฟันแท้ในผู้ใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่มันเกิดการผุและต้องถอนออกก่อนกำหนดจะส่งผลกระทบต่อการงอกของฟันแท้ ทำให้การจัดเรียงตัวของฟันในอนาคตไม่สวย เกิดการสบกัน ปัญหาฟันซ้อนหรือฟันเกตามมาได้
เมื่อใดก็ตามที่สังเกตเห็นว่าฟันน้ำนมของลูกน้อยเริ่มผุ ผู้ปกครองจึงไม่ค่อยปล่อยทิ้งเอาไว้และควรพาเด็กเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์ เพื่อให้ฟันสามารถคงสภาพการใช้งานต่อไปได้จนอายุประมาณ 12 ปี ฟันแท้ทั้งปากก็จะขึ้นมาจนครบ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ฟันน้ำนมจึงควรได้รับการใส่ใจเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันแท้งอกผิดตำแหน่ง นอกจากจะทำให้เด็กเกิดปัญหาการบดเคี้ยวในอนาคต และยังส่งผลให้ใบหน้าเกิดการผิดรูปอีกด้วย
ปัญหาฟันน้ำนมผุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการดูดนมของเด็ก แม้นมจะอุดมไปด้วยแคลเซียมที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่ทว่าคราบนมหลังจากการดูดของเด็กหากมันติดอยู่ตามซอกผิวฟัน ก็จะเป็นตัวการทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต เนื่องจากในน้ำนมมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ การป้องกันที่ดีหลังจากเด็กดูดนมแล้ว คุณแม่ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดไปตามซอกฟันของลูกน้อย เหงือก กระพุ้งแก้ม และบริเวณลิ้น ให้ทั่ว ให้มั่นใจว่าจะไม่มีคราบน้ำนมเกาะอยู่ภายในช่องปากของเด็ก
แต่เพื่อความแน่ใจ คุณแม่สามารถพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์ได้หลังจากฟันซี่แรกขึ้นแล้ว เพื่อรับคำปรึกษาในการดูแลฟันน้ำนม อาหารที่ควร และไม่ควรกิน รวมไปถึงหลักการดูแลสุขลักษณะอนามัยทางช่องปากให้สมบูรณ์ เพียงเท่านี้ฟันน้ำนมของเจ้าตัวน้อยก็จะคงอยู่ต่อไปพร้อมกับการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามอายุขัยของมัน