ฟันผุหนึ่งในปัญหาอันน่าหวั่นวิตกที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากการดูแลฟันที่ไม่ดีพอ รวมไปถึงการดูแลอย่างผิดวิธีทำให้สภาพของสารเคลือบฟันถูกทำลายลงไปอย่างช้าๆ ในที่สุดเมื่อสารเคลือบฟันชั้นนอกหมดไป การกัดกร่อนของฟันก็เริ่มตามมา องค์ประกอบของฟันเกิดการสลายตัว ในช่วงแรกยังไม่มีความรุนแรงทำให้หลายคนชะล่าใจและเลือกที่จะปล่อยมันทิ้งเอาไว้แบบนั้น จนสุดท้ายก็ต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปอย่างน่าเสียดาย หากเพียงแต่เรารู้จักวงจรของการเกิดฟันผุ อาจจะเป็นทางป้องกัน ลดการเกิดปัญหาฟันผุให้น้อยลง และช่วยให้ฟันแข็งแรงอยู่กับเราได้นานมากขึ้น

tooth_decay_1

สาเหตุของการเกิดฟันผุ

ฟันผุ คือการสูญเสียองค์ประกอบของตัวฟัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากคราบพลัคที่เกาะอยู่บนสารเคลือบฟัน รวมตัวกับเชื้อแบคทีเรีย และน้ำตาลจากอาหาร ทำปฏิกิริยากันจนกลายเป็นกรดอยู่ในน้ำลาย ทำให้สารเคลือบฟันค่อยๆ ถูกกัดกร่อน และทำลายเข้าไปถึงส่วนของเนื้อฟัน บางคนมีปัญหาฟันผุโดยไม่รู้ตัว บางส่วนซุกซ่อนอยู่ตามซอกฟันที่ติดกันทำให้ไม่สามารถมองเห็นส่วนที่ผุได้ รู้ตัวอีกทีเนื้อฟันก็ถูกทำลายไปจนถึงส่วนด้านใน กลายเป็นโพรงที่พร้อมจะเจาะลึกเข้าไปถึงเนื้อประสาทฟันเอาได้

ฟันผุเป็นสิ่งที่พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ แม้จะพบในเด็กเป็นส่วนมาก แต่ผู้ใหญ่ที่มีฟันแท้ ก็สามารถทำให้เกิดฟันผุได้เช่นเดียวกัน แต่ระยะเวลาในการกัดกร่อนของกรดที่ทำลายฟันจะเป็นไปอย่างช้าๆ จนทำให้หลายคนลืมที่จะสังเกตฟันของตัวเอง

คราบน้ำตาลเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดฟันผุ คนที่ชอบรับประทานอาหารรสหวาน หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลอยู่มาก อย่างเช่น ลูกอม ขนมหวาน หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลม เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดี เมื่อเชื้อแบคทีเรียในช่องปากรวมตัวกับคราบน้ำตาลที่เกิดขึ้นนานเข้า การเจริญเติบโตของเชื้อก็จะแพร่กระจายตัว ทำหน้าที่ย่อยสลายน้ำตาลเป็นแหล่งอาหาร สีดำที่เกิดขึ้นจากฟันผุมาจากสภาพความเป็นกรดที่ไม่สมดุลภายในช่องปากทำให้ฟอสฟอรัส และแคลเซียมถูกดึงออกไป เมื่อฟันไม่แข็งแรงก็จะเกิดความคล้ำก่อนจะทำให้กลายเป็นรูฟันที่ผุกร่อนตามมานั่นเอง

tooth_decay_2

ระดับความรุนแรงของฟันผุ

ระดับความรุนแรงของฟันผุ เริ่มต้นได้ที่ตัวฟันเป็นพื้นฐานและเป็นส่วนที่พบได้มากทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ มักเกิดขึ้นตามร่องฟันที่ต้องผ่านการเคี้ยว ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ตามซอก มักพบการผุได้อยู่ตามผิวฟันด้านนอกบริเวณที่เป็นผิวขรุขระ ระดับต่อมาคือการเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยฟันผุมาแล้ว โดยเฉพาะบริเวณที่เคยอุดฟันมาแล้ว อย่าคิดว่าบริเวณนี้จะไม่เกิดฟันผุได้อีก เพราะมันเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงมากกว่าบริเวณอื่นๆ เนื่องจากตรงส่วนของซอกระหว่างวัสดุอุดกับเนื้อฟันจะทำให้เศษอาหารต่างๆ เข้าไปติดได้ง่าย เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดการผุอีกครั้งหนึ่งตามมา ส่วนอีกระดับหนึ่งเป็นการผุซึ่งเกิดขึ้นได้ในฟันที่มีอายุมากแล้ว พบมากในผู้สูงอายุ หรือคนที่มีปัญหาเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ เนื่องจากส่วนของรากฟันไม่มีสารเคลือบฟัน ทำให้เกิดการผุบริเวณรากฟันได้ง่าย

Caries stages

นอกจากนี้ หากสังเกตพบว่าตัวเองมีอาการปากแห้ง ลิ้นภายในช่องปากมีน้ำลายน้อย จะมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากกว่าคนทั่วไป การดื่มน้ำบ่อยครั้งจะช่วยลดกรดที่อยู่ช่องปากซึ่งเกิดขึ้นจากอาหาร ลักษณะปากแห้งแบบนี้ยังเกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องทำเคมีบำบัด การกินยาบางชนิด หรือโรคประจำตัวก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดผลกระทบภายในช่องปาก สิ่งที่ตามมาหลังจากฟันผุไม่ใช่แค่เพียงอาการปวดเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราจะได้รับหาไม่ได้รับการรักษาจะเกิดอาการที่รุนแรง การผุจะลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน สร้างความเจ็บปวดทรมาน ตามมาด้วยการอักเสบ เป็นหนอง และอาจจะถึงขั้นที่มันสามารถลุกลามออกไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ฟันผุจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป เมื่อใดก็ตามที่เราตรวจพบสัญญาณความผิดปกติในช่องปาก ก็ควรรีบเข้ารับการตรวจจากทันตแพทย์ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ต้องพยายามดูแลสุขภาพช่องปากให้เหมาะสม และหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

dental chiangmai clinic