เศษอาหารที่ตกค้าง ธาตุอาหารต่างๆ และน้ำลายภายในช่องปากสามารถรวมตัวกันกลายเป็นคราบหินปูน(tartar) ซึ่งเป็นคราบที่ปรากฏเป็นแผ่นแข็งเกาะอยู่ตามซอกฟัน ระดับการแปรสภาพของมันจะเริ่มต้นขึ้นจากจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ตามตัวฟัน เมื่อเศษอาหารและการรวมตัวเหล่านั้นสะสมตัวหนาขึ้นโดยไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดีพอก็จะส่งผลให้กลายเป็นคราบหินปูนสีเหลืองๆ ในช่วงแรกจะมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เคลือบอยู่ที่ผิวฟันบริเวณร่องเหงือกด้านล่าง หากทิ้งเอาไว้นาน การก่อตัวก็จะสูงขึ้นและทำให้คราบเหล่านั้นนูนออกมา ทำลายฟัน ส่งผลทำให้เหงือกร่นและอักเสบ ตามมาด้วยความเสื่อมสภาพของฟันที่จะหลุดออกไปก่อนวัยอันควรได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สภาพของคราบหินปูนภายในช่องปาก
ขึ้นชื่อว่าเป็นคราบหินปูน จึงทำให้มันเกาะตัวฝังแน่นอยู่ที่ด้านล่วงของช่วงฟันโดยที่เราไม่สามารถกำจัดมันออกไปได้เอง การกำจัดจะต้องทำโดยทันตแพทย์ด้วยวิธีขูดหินปูน คราบเหล่านี้หากทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการเกาะติดกันระหว่างเหงือกและฟัน เนื่องจากมันจะเข้าไปแทรกตัวอยู่ภายในร่องเหงือก ทำให้สภาพของเหงือกอ่อนแอลง เมื่อแปรงฟันจะทำให้เลือดออกได้ง่าย เหงือกจะร่นลงจากเดิม และหากทิ้งเอาไว้นานจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบขั้นรุนแรง กลายเป็นหนองและต้องสูญเสียฟันตามมาได้
หินปูนที่ฝังแน่นอยู่ตามคอฟันยังเป็นแหล่งบ้านชั้นดีของเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้ฟันผุและทำลายเนื้อเยื่อของเหงือก ผู้เข้ารับการรักษาฟันบางรายยังพบว่ามีปริมาณของคราบหินปูนมากจนแทบมองไม่เห็นส่วนของฟันจริง ส่วนใหญ่จะพบตามซอกฟันที่เข้าถึงได้ยากและการทำความสะอาดไม่ดีพอ นอกจากนี้ตัวหินปูนยังเป็นต้นเหตุในการทำลายเบ้าฟัน กระดูกฟันจะเกิดการละลายตัว และสิ่งที่น่ากังวลตามมาเมื่อระดับความรุนแรนสูงขึ้นจะเข้าสู่สภาวะที่เรียกกันตามการแพทย์ว่า “โรคปริทันต์อักเสบ”
โรคปริทันต์อักเสบคืออะไร?
โรคปริทันต์อักเสบคือโรคที่เกิดขึ้นจากคราบหินปูที่สะสมอยู่ นานวันเข้าและไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างถูกวิธี ทำให้สภาพของเหงือกและฟันถูกทำลายอย่างรุนแรง จะพบได้ว่าผู้ที่มีปริทันต์อักเสบ แม้จะไม่แปรงฟันก็สามารถมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย มีกลิ่นปากรุนแรง เกิดภาวะเหงือกร่น มีหนอง และตัวฟันเริ่มโยกคลอนพร้อมที่จะหลุดอยู่ตลอดเวลา
การเกิดโรคนี้จะเชื่อมโยงตั้งแต่เนื้อเยื่อของเหงือก ส่วนของกระดูกที่รองรับฟัน และเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดฟัน โดยเริ่มต้นของอาการที่สังเกตได้ง่ายคือเหงือกมีสีแดงสด มีความนิ่ม ขอบเหงือกหนาตัวจากอาการบวม บางรายอาจจะมีสีแดงปนม่วง ไม่ค่อยมีอาการเจ็บหากไม่โดนสัมผัส จากนั้นการยึดเกาะของฟันจะเริ่มสูญเสียตั้งแต่เส้นเอ็นที่ยึดฟันให้แข็งแรง สารเคลือบรากฟัน และเกิดการบิดเบี้ยวของตัวฟัน โดยเฉพาะในช่วงเคี้ยวอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดแม้ตัวฟันจะยังไม่ผุ ส่งผลให้การเคี้ยวอาหารได้ละเอียดไม่เพียงพอ ไม่สามารถกัดหรือเคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวได้ ตัวฟันจะโยกคลอนไปมาเหมือนจะหลุดออกจากการยึดเกาะ เริ่มเห็นหนองซึมออกมาจากร่องฟัน การแปรงฟันเริ่มทำให้รู้สึกเจ็บและน่ารำคาญ หากปล่อยทิ้งเอาไว้จะส่งผลให้การรักษาทำได้ยาก จุดจบของการแก้ไขคือ ถอนฟันซี่นั่นออกไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น ปริทันต์อักเสบจึงเปรียบเสมือนอาการของเหงือกอักเสบที่มาจากหินปูนในระยะที่สอง ซึ่งลุกลามมาจากการไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง สังเกตได้ว่าตัวฟันในระยะนี้จะมีขนาดยาวขึ้นจากการถอยร่นของเหงือกจนเกือบจะเห็นส่วนของรากฟันอย่างชัดเจน
การกำจัดหินปูนและดูแลรักษาฟันอย่างถูกต้อง
การกำจัดคราบหินปูนที่เกิดขึ้น ง่ายๆ คือต้องเข้ารับการกำจัดจากแพทย์เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือในการขูดมันออกไป การขูดหินปูนจึงเป็นขั้นตอนพื้นฐานแรกที่แพทย์จะลงมือทำ โดยจะมีตั้งแต่การขูดหินปูนด้วยมือ(Hand instrument) กรณีที่หินปูนไม่หนามากนัก ส่วนอีกประเภทจะใช้เครื่องมือช่วยมีการสั่นสะเทือนด้วยระดับความถี่ในระบบอัลตราโซนิค จะช่วยกำจัดผนังของคราบหินปูนให้ถูกกระเทาะออกมา ทั้งส่วนของหินปูที่สะสมและคราบของเชื้อแบคทีเรียบริเวณฟันด้วย โดยทั่วไปจึงนิยมใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนมากกว่าการใช้มือขูด แต่การทำ Hand instrument อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในกรณีที่เครื่องไม่สามารถกำจัดบางส่วนของคราบพลัคออกไปได้หมด
หลังจากการกำจัดคราบหินปูนแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องดูแลเหงือกและฟันด้วยตัวเอง แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึงและถูกวิธี อาการบวมของเหงือกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงและสามารถกลับมาหายเป็นปกติพร้อมกับฟันที่ยังคงสภาพการใช้งานที่ดีดังเดิม