ปัญหาสุขภาพช่องปากที่เรามักต้องเผชิญอย่างมากมายจากการดูแลสุขลักษณะอนามัยอย่างไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นจากปัญหาฟันผุ เหงือกอักเสบ หินปูนหรือปัญหาทางด้านกลิ่นปาก ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของตัวฟันเอง จากปกติที่ฟันของเราจะต้องเรียงตัวสวยเป็นระเบียบ กลับพบว่ามันเกิดการซ้อนทับจนทำให้บางจุดยื่น ผิดรูปและเอียงตัวไปจากแนวเดิม ลักษณะเหล่านี้เราเรียกกันว่าอาการ “ซ้อนเก” ของฟัน เป็นปัญหาหนักอกที่ดูเหมือนมันจะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับเราเท่าใดนัก

ฟันซ้อนเก

แต่ไม่นานมันกลับจะกลายเป็นรังของเศษอาหาร แบคทีเรียและคราบหินปูอันเนื่องมาจากการทำความสะอาดที่ยากจะเข้าถึง แถมปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงหน้า ทำให้ผู้ที่มีปัญหาฟันเกไม่มีความมั่นใจในตัวเองโดยเฉพาะการสร้างรอยยิ้ม ทั้งนี้ปัญหาฟันเกหากไม่ได้รับการแก้ไข ยังจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ ไปจนถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยวอีกด้วย

 

สาเหตุของการเกิดฟันเก
ฟันเกมีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นจากพันธุกรรม บ้านไหนที่เคยมีญาติพี่น้องในบ้านหรือพ่อแม่เคยฟันเกมาก่อน เด็กที่เกิดมาก็มีโอกาสที่จะเกิดฟันในลักษณะนี้ได้สูง บางรายเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลในการงอกของฟัน มักจะเกิดขึ้นจากการดูแลฟันน้ำนมในเด็กได้ไม่ดีพอ ทำให้ฟันน้ำนมหลุดออกไปก่อนเวลาอันควร ตำแหน่งของฟันแท้ที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น รวมไปถึงโครงสร้างของขากรรไกรที่ผิดปกติ ทำให้ฟันบนและล่างไม่สามารถประกบกันได้ปกติ  ส่วนของฟันล่างครอบฟันด้านบนเอาไว้ ทำให้เกิดปัญหาฟันเหยินตามมา

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ล้วนทำให้เกิดฟันซ้อนเกได้ อย่างรูปร่างของฟันที่ใหญ่เกินไป ทำให้ฟันบริเวณข้างเคียงไม่สามารถเรียงตัวได้ดี ตำแหน่งการงอกจึงซ้อนทับกัน ธรรมชาติของฟันจึงพยายามบิดและแทรกตัวให้ตัวเองสามารถงอกออกมาได้

orthodontics-gallery-2

 

การแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเกอย่างถูกวิธี
โดยหลักการแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก ทางที่ดีก็คือ การให้ทันตแพทย์เป็นผู้ช่วยจัดการให้เท่านั้น โดยมากจะเริ่มสังเกตความผิดปกติกันได้ตั้งแต่ในวัยเด็กที่มีฟันแท้ขึ้นมา ส่วนการแก้ไขที่แพทย์แนะนำว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดเพื่อช่วยให้ฟันเรียงตัวได้อย่างสมบูรณ์แบบคือช่วงอายุประมาณ 9 ปีขึ้นไปจนถึง 15 ปี เนื่องจากการเจริญเติบโตของกระดูกยังคงดำเนินไปข้างหน้า ทำให้ขากรรไกรเกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในวัยผู้ใหญ่

การแก้ไขฟันเกออกไปด้วยการจัดฟันมักจะมีการถอนเอาฟันบางส่วนออกไปเพื่อจัดให้ฟันที่เหลือเรียงชิดกันอย่างเป็นระเบียบ ฟันบางส่วนที่เกินออกมาจึงจำเป็นต้องกำจัดออกโดยไม่ต้องเสียดายแต่อย่างใด เพราะหลังจากการจัดฟันแล้ว ฟันที่เหลือจะเรียงตัวอยู่กับเหงือกและขากรรไกรได้อย่างพอดี บางรายก็ไม่จำเป็นต้องมีการถอนฟันออกไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ที่ให้การรักษา

การป้องกันฟันซ้อนเก
โดยทั่วไปหากฟันซ้อนเกที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมจะไม่สามารถป้องกันได้ นอกเสียจากการจัดฟันเพียงอย่างเดียว การปล่อยทิ้งไว้ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาภายในช่องปาก ส่วนในกรณีอื่นๆ การป้องกันที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก ผู้ปกครองควรดูแลฟันน้ำนมของลูกน้อยให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมหลุดออกไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ฟันซ้อนเกได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากการจัดฟันแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาฟันให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะการจัดฟันมีโอกาสที่เศษอาหารจะเข้าไปติดอยู่ในอุปกรณ์ยึดฟัน เป็นเหตุให้มีโอกาสเกิดฟันผุได้สูง โดยเฉพาะในเด็กๆ ผู้ปกครองต้องหมั่นดูและและคอยช่วยเหลือพวกเขาให้เข้าใจถึงการแปรงฟันอย่างถูกต้อง พร้อมกับเข้ารับการตรวจรักษาจากทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยแก้ปัญหาฟันซ้อนเกให้ดีขึ้น พร้อมกับความมั่นใจที่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

โดยสรุปแล้วฟันซ้อนเกเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่พบปัญหาความผิดปกติในวัยเด็ก เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและแก้ไขฟันให้สวยงามได้อย่างสมบูรณ์แบบ

orthodontics